ทารกแรกเกิดหมายถึงทารกในวัย 1 เดือนหลังคลอด  เป็นกลุ่มประชากรที่มี
อัตราการเจ็บป่วย (morbidity) และการสูญเสีย
ชีวิต (mortality) มากที่สุดเมื่อเทียบกับประชากร
วัยอื่น ๆ   การดูแลทารกแรกเกิดเพื่อป้องกัน
การเจ็บป่วยต้องเริ่มตั้งแต่ในห้องคลอด   และ
ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง   จะขาดตอนขณะใด
ขณะหนึ่งไม่ได้ การดูแลทารกแรกเกิดประกอบด้วยหลักการ 5 ประการดังนี้ 
         1. การดูแลอุณหภูมิกายให้ปรกติ 
         2. การดูแลทางเดินหายใจให้โล่งและให้ออกซิเจนในเลือดปรกติ 
         3. การป้องกันการติดเชื้อ 
         4. การให้อาหารหรือสารน้ำ ได้แก่ นมแม่ หากรับไม่ได้ ให้สารน้ำและเกลือแร่แทน 
         5. การให้การรักษาเมื่อมีการเจ็บป่วย  
         หลักการ 4 ข้อแรกมุ่งป้องกันการเจ็บป่วย หากมีความบกพร่อง สามารถทำให้ทารก
เจ็บป่วย ได้หลักการทั้ง 5 ข้อเหมือนกับสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ซึ่งประกอบด้วย 
เครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย(ตรงกับข้อที่ 1) อากาศ (ข้อที่ 2) อาหาร และน้ำ (ข้อที่ 4)
 และยารักษาโรค (ข้อที่ 5) ที่ไม่ได้เน้นในวัยอื่นคือข้อที่ 3 การป้องกันการติดเชื้อ 
แต่ความเป็นจริงก็มีการป้องกันได้แก่การให้วัคซีนป้องกันโรค
         เนื่องจากทารกแรกเกิดติดเชื้อง่ายกว่าวัยอื่น จึงมีการเน้นเป็นพิเศษ ที่สำคัญ
ที่สุดคือเน้นการล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสทารก 
ให้ทารกอยู่กับมารดาขณะอยู่ในโรงพยาบาล 
เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อ จากบุคลากรทาง
การแพทย์และทารกอื่นที่อยู่ในหอผู้ป่วยด้วยกัน 
และให้นมแม่เพราะในน้ำนมแม่มีสารป้องกัน
การติดเชื้อและคุณแม่สะอาดที่สุดสำหรับทารก
ของตัวเอง  สิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยคือ การเข้าเยี่ยมคุณแม่หลังคลอดของญาติ
และเพื่อน ๆ ในโรงพยาบาล และการสัมผัสหรืออุ้มทารกเมื่อเข้าเยี่ยม เพราะทำให้ทารก
เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
         บุคลากรทางการแพทย์และคุณแม่คุณพ่อต้องหลีกเลี่ยงการให้ยาแก่ทารกแรกเกิด  
ให้เฉพาะเมื่อจำเป็นที่ใช้เพื่อรักษาสาเหตุ  ยาที่
ควรหลีกเลี่ยง เช่น ยาลดไข้  ยาแก้ไอ เพราะเป็น
เพียงยาบรรเทา   หากมีไข้ไม่สูงให้ทารกอยู่ใน
สิ่งแวดล้อมที่เย็น  ใส่เสื้อผ้าบาง และไม่ห่มผ้า  
หากไข้สูง ให้ถอดเสื้อผ้าและเช็ดตัว  การให้ยา
ในทารกแรกเกิดต้องพิจารณาสิ่งต่อไปนี้ 
         เลือกยาสำเร็จรูป (preparation) ที่เหมาะสม  เช่น ยาชนิดน้ำเชื่อม (syrup) อาจทำให้
ท้องเดินจากน้ำตาลที่อยู่ในลำไส้ดึงสารน้ำออกจากหลอดเลือด  (osmotic diarrhea)  ให้ใช้
ชนิดหยด (drop)  
         ต้องคำนวณขนาดยาให้ถูกต้อง และใช้วิธีการตวงยาที่แม่นยำ เช่น ตวงด้วยที่หยด 
(dropper) หรือ กระบอกยา(syringe) แทนการให้ หนึ่งส่วนสี่ช้อนชา เพราะทารกมีโอกาส
เกิดพิษจากยาได้ง่าย ห้ามให้ยาบางชนิด ได้แก่ ยาที่มีฤทธิ์ต่อสมอง เช่น ยาต้านฮีสตามีน  
เพราะอาจทำให้ทารกหยุดหายใจหรือชัก ให้ใช้ยาเฉพาะที่โดยเช็ดหรือหยอดจมูก