ทารกอาเจียน


         การแหวะนมเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นภาวะปรกติในทารกแรกเกิดเนื่องจากหูรูดกระเพาะอาหาร
ยังทำงานได้ไม่ดีทำให้รูดปิดไม่สนิท การอาเจียนหมายถึงการมีน้ำนมออกมาจำนวนมาก สาเหตุ
ของการอาเจียนที่ไม่ได้เกิดจากพยาธิสภาพ ซึ่งวินิจฉัยแยกโรคได้ด้วยการซักประวัติเท่านั้น 
เกิดจากวิธีป้อนนมที่ไม่ถูกต้องหรือการให้นมมากหรือน้อยเกิน สาเหตุที่พบบ่อยมีดังนี้
         มารดาที่เคร่งครัดกับเวลาของการให้นม และปล่อยให้ทารกร้องนานเพราะทารกหิวก่อน
เวลาจนกว่าถึงเวลามื้อนมที่มารดากำหนด  ทำให้ทารกกลืนลมขณะร้อง (aerophagia) ทารก
ในเดือนแรกยังดูดนมไม่เป็นเวลาที่แน่นอน การป้อนนมในวัยนี้จึงควรให้ตามความต้องการของ
ทารก (self demand) สิ่งที่แสดงว่าทารกได้รับนมแต่ละมื้อเพียงพอคือ เมื่อทารกดูดนมจนอิ่ม 
ทารกอาจอยู่ในภาวะตื่นและสงบ (quiet alert state) พักหนึ่งหรือนอนหลับทันที และตื่นเมื่อถึง
มื้อนมถัดไปโดยหลับนาน 2-4 ชั่วโมง และมีน้ำหนักตัวเพิ่มตามเกณฑ๎ (ประมาณ 30 กรัม/วัน) 
หากทารกไม่นอนหลับหลังมื้อนมหรือหลับนานไม่ถึง 2 ชั่วโมง แสดงว่าทารกได้นมไม่พอ ทารก
จะดูดนมเป็นเวลาเมื่ออายุหลังคลอดหนึ่งเดือน
         ทารกกลืนลมเพราะกลืนนมถี่ไปจากน้ำนมแม่มีมากและไหลเร็วมาก ปัญหานี้วินิจฉัยได้
โดยสังเกตว่าน้ำนมพุ่งออกจากหัวนมจำนวนมากและแรงเวลาที่หัวนมหลุดจากปากของทารก  
การแก้ไขทำโดยการใช้นิ้วมือกดรอบ ลานหัวนมเวลาทารกดูดนมเพื่อให้น้ำนมหลั่งช้า หรือบีบ
น้ำนมออกประมาณครึ่งถึงหนึ่งออนซ์ก่อนให้ทารกดูดนม ร่วมกับการให้ทารกดูดนมในท่านั่ง 
เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนมพุ่งถูกคอหอย (pharynx) ซึ่งจะกระตุ้นรีเฟล็กซ์การกลืน
 

 ท่าอุ้มดูดนมท่านั่ง  


         การให้ทารกดูดเต้านมที่คัดหรือเต้านมที่มีน้ำนมน้อยนานเกิน หรือดูดขวดนมเปล่า 
การป้อนนมผสม โดยใช้ผ้าหนุนขวดนมเพราะมีความเชื่อว่าการอุ้มทำให้ทารกติดมือ หรือไม่
ถือขวดนมให้น้ำนมท่วมจุกนมตลอดเวลา ทำให้ทารกกลืนลมเข้ากระเพาะอาหาร การสัมผัสทารก
ด้วยการอุ้มเวลาป้อนนมเป็นสิ่งกระตุ้น (stimulus) ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ทารกพัฒนาทาง
จิตใจอย่างปรกติ  
         การให้ทารกดูดนมทุกครั้งที่ทารกร้องไห้ เพราะคิดว่าทารกหิว  ทารกแรกเกิดมีรีเฟล็กซ์การดูด 
(sucking reflex) เมื่อมีของเข้าปาก การดูดจึงไม่ได้หมายถึงการหิวนมเสมอ หากทารกหยุดร้องเมื่อ
อุ้มแสดงว่าทารกไม่ได้หิวแต่ต้องการให้อุ้ม ทารกที่ยังร้องต่อเมื่ออุ้มและป้อนนม ต้องค้นหาสาเหตุ
ซึ่งมีมากมาย สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ อากาศร้อนหรือเย็นเกิน ใส่เสื้อผ้ามากไป ผ้าอ้อมเปียกแฉะ 
ท้องอืด จากการป้อนนมผิดวิธี ปวดท้องจากภาวะอ้อนสามเดือน การคัดจมูก เป็นต้น
         การป้องกัน เลี้ยงทารกด้วยนมแม่ หากมีความจำเป็นต้องเลี้ยงด้วยนมผสม ต้องให้ทารกดูด
นมจากขวดโดยอุ้มทารกอยู่ในท่าลำตัวและศีรษะสูง และถือขวดนมให้น้ำนมท่วมจุกนมตลอดเวลา 
หลังมื้อนมต้องไล่ลมให้ทารกโดยการจับทารกนั่งตัวตรงบนตักคุณแม่หรืออุ้มพาดบ่านาน 5-10 นาที
หลังมื้อนม การนอนตะแคงขวาร่วมกับนอนท่าศีรษะสูงช่วยป้องกันการอาเจียน หากปฏิบัติตาม
ข้อแนะนำดังกล่าวแล้ว ทารกยังมีอาเจียนมาก ต้องพาไปพบกุมารแพทย์