ทารกเกร็ง


         Kernicterus หมายถึงพยาธิสภาพของสมองที่เกิดจากบิลิรูบิน (สารสีเหลืองในเลือด) 
จับที่เนื้อสมองและมีการตายของเซลล์สมอง ปัจจุบันนิยมเรียกว่า bilirubin encephalopathy 
ซึ่งมีความหมายกว้างกว่ากล่าวคือ หมายถึงอาการทางคลินิกที่เกิดจากเซลล์สมองได้รับ
อันตรายจากบิลิรูบิน อาการที่พบมีตั้งแต่อาการเริ่มแรกที่ไม่รุนแรงและหายเป็นปรกติได้คือ
อาการซึม การเปลี่ยนแปลงของความตึงของกล้ามเนื้อจนถึงอาการที่รุนแรงที่สุดที่พบใน
วัยทารกแรกเกิดคือ เกร็งหลังแอ่น (opisthotonos) ชัก และตาย หรือปรากฏความพิการถาวร
ในภายหลังคือความพิการทางสมอง
อาการแสดงแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ
  	ระยะที่ 1 อาการซึม ดูดนมไม่ดี ร้องเสียงแหลม (high-pitched cry) ความตึงของ
กล้ามเนื้อลดลงไม่มีการผวา (Moro reflex)
     	ระยะที่ 2 มีไข้ ความตึงของกล้ามเนื้อเหยียด (extensor muscles) เพิ่ม ทำให้ทารก
มีอาการแข็งเกร็ง (rigidity) เกร็งหลังแอ่น (opisthotonos)  ในรายที่มีอาการรุนแรงทารก
จะชักโดยมีแขนขาเหยียด แขนบิดเข้าด้านใน และมือกำแน่น ใบหน้าบิดเบี้ยว
 	ระยะที่ 3 ความตึงของกล้ามเนื้อลดลงภายหลัง 1 สัปดาห์ 
         ทารกที่มีอาการสมองชัดเจนมีอัตราตายร้อยละ 75  ร้อยละ 80 ของทารกที่รอดชีวิต
มีความพิการทางสมองชนิด choreoathetosis  มีแขนและขาเกร็ง (spastic quadriplegia) 
ปัญญาอ่อน หูหนวกความพิการทางสมองที่เกิดจากภาวะตัวเหลืองเป็นภาวะที่ควรป้องกันได้ 
แต่ก็ยังพบภาวะนี้ได้บ่อยในประเทศไทย  ภาวะนี้พบได้ทั้งทารกที่คลอดในโรงพยาบาลของรัฐ
และของเอกชน ทารกที่คลอดในโรงพยาบาลตามภูมิภาค (ผู้เขียนได้ไปบรรยายที่โรงพยาบาล
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและได้ทราบจากกุมารแพทย์ว่าพบภาวะนี้เป็นประจำ) และ
โรงพยาบาลที่อยู่ในเขตกรุงเทพ ฯ  สาเหตุเกิดจากปัจจัยหลายอย่างดังนี้ 
     	1. ภายหลังคลอดมารดาและทารกพักอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 24-48 ชั่วโมง 
     	2. ทารกได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดประสบการและขาดความรู้  
     	    ทำให้ไม่สามารถตรวจพบว่าทารกเหลืองผิดปรกติและปล่อยให้กลับบ้านจึงไม่มี
     	    การนัดให้มาติดตาม และให้คำแนะนำที่ผิดแก่มารดาว่าภาวะเหลืองดีขึ้นได้โดยให้
     	    ทารกดูดน้ำมาก ๆ และนำทารกไปอาบแดดตอนเช้า
     	3. มารดาและบิดาไม่ทราบว่าดูทารกเหลืองอย่างไร  และหากรู้ว่าทารกเหลือง ควรพา
     	    ทารกมาพบกุมารแพทย์เมื่อใด
     	4. เครื่องส่องไฟสำหรับรักษาภาวะตัวเหลืองไม่ได้รับการตรวจสอบและรับรองคุณภาพ
     	    และประสิทธิภาพการทำงาน เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งมักผลิตขึ้นมาใช้เอง
     	5. ส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ตามอำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศไม่มีเครื่องตรวจ
                         ระดับสารสีเหลือง (บิลิรูบิน) ในเลือด เนื่องจากมีราคาแพงถึงแสนบาทเศษต่อเครื่อง
 

การรีดผิวหนังให้ซีด

               
การป้องกัน บุคลากรทางการแพทย์และบิดามารดาต้องช่วยกันป้องกันภาวะนี้เพื่อให้ทารกที่เป็นของ
มีค่าของครอบครัว และเป็นทรัพยากรที่มีค่าของชาติหากเติบโตอย่างมีสุขภาพดี โดยทราบวิธีตรวจ 
(detect) ทารกว่าเหลืองหรือไม่ โดยบุคลการต้องเรียนรู้วิธีตรวจ ภาวะเหลือง และสอนคุณแม่คุณพ่อ
ให้รู้วิธีตรวจ ก่อนให้คุณแม่ออกจากโรงพยาบาล ต้องแน่ใจว่า ทารกไม่มีภาวะเหลืองเกิน 
(hyperbilirubinemia) และระดับบิลิรูบินในเลือดผ่านพ้นระดับสูงสุด (peak) แล้ว  ซึ่งหมายถึงว่า 
ทารกได้รับการหาระดับบิลิรูบินในเลือดอย่างน้อย 2 ครั้งก่อนกลับบ้าน
 

ตาขาวเหลือง  

                       
         การตรวจว่าทารกเหลืองหรือไม่นั้น สามารถดูที่ผิวหนังของทารก เนื่องจากทารกแรกเกิดมี
ผิวหนังแดงผู้ที่ขาดความชำนาญอาจใช้วิธีรีดผิวหนังที่หน้าผากหรือลำตัวให้ซีดโดยวางนิ้วหัวแม่มือ
และนิ้วชี้ที่ชิดกันบนผิวหนัง กดเบา ๆ พร้อมกับแยกนิ้วออกขณะที่ยังคงแรงกดไว้บนผิวหนังเพื่อกด
หลอดเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนัง (blanching) เปรียบเทียบสีผิวหนังของทารกกับสีผิวหนังที่ฝ่ามือของ
ผู้ตรวจว่าเหลืองชัดเจนแค่ไหน หรือมองดูที่ตาขาวของทารกเวลาลืมตาว่าเหลืองหรือไม่ เหลืองมาก
น้อยแค่ไหน  การดูความเข้มของสีเหลืองที่ผิวหนัง ผู้มีประสบการณ์จะสามารถประเมินระดับความเข้ม
ของบิลิรูบินในเลือดหรือทารกว่ามีเหลืองผิดปรกติหรือไม่  ความเข้มของสีเหลืองที่ผิวหนังหรือตาขาว
สัมพันธ์กับระดับบิลิรูบินในเลือด ฉะนั้น หากก่อนกลับบ้าน บุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้บอกมารดา
หรือบิดาว่าทารกเหลือง เมื่อพบว่าทารกเหลือง ขอให้มารดาหรือบิดาพาไปพบกุมารแพทย์โดยด่วน  
หรือก่อนกลับบ้าน ทราบว่าทารกเหลือง หลังกลับบ้าน ทารกเหลืองมากขึ้น ต้องรีบพาไปพบกุมาร
แพทย์โดยด่วนเช่นกัน
         หากพลาดจากขั้นนี้ สามารถสังเกตจากอาการทางสมองที่เกิดจากบิลิรูบินเข้าไปอยู่ในเซลล์
สมองและทำให้สมองทำงานผิดปรกติดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้น หากตรวจพบความผิดปรกติในระยะ
เริ่มแรก และได้รับการถ่ายเปลี่ยนเลือดทันที อาจป้องกันความพิการทางสมองได้