ทารกทั้งลำตัว

ตุ่มหนองถ่าย close-up


         การอักเสบของผิวหนังจากเชื้อ Staphyllococcus aureus พบได้ตั้งแต่อายุหลังคลอด 
2-3 วัน ลักษณะของรอยโรคเป็นเม็ดตุ่มพองใส (vesicle) ต่อมากลายเป็นหนอง (pustule) 
ตุ่มหนองมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นตุ่มพองขนาดเล็ก (bullus) และขนาดใหญ่ (blister) ผนังของ
ตุ่มไม่ตึง (flaccid) เนื่องจากผนังบาง ทำให้ตุ่มที่มีของเหลงอยู่ภายในย้อยตามแรงดึงดูดโลก 
ภายในมีหนองสะสม  ตุ่มพองแตกง่าย เมื่อตุ่มแตก จะเห็นพื้นที่อยู่ใต้ผนังแดง (red denuded 
area) แฉะ (moist) อาจมีน้ำเหลืองแห้งกรัง (crust) ติดที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบพบได้ทุกแห่ง 
พบบ่อยที่ผิวหนังใต้ผ้าอ้อม รอบสะดือ ใต้คางและรอบลำคอที่อับ อาจเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อน
ของผดแดง (miliaria rubra)  ทารกในรูปมีผดเต็มลำตัว มารดาไม่อาบน้ำให้ทารกนาน 10 วัน 
จึงเกิดการอักเสบของผิวหนัง
         การวินิจฉัยแยกโรคเมื่อเป็นตุ่มหนอง (pustule) ต้องแยกจาก miliaria pustulosa 
(อ่านในภาวะปรกติในทารกแรกเกิด) การย้อมหนองด้วยสีแกรมพบเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิวล์
และแบคทีเรียติดสีแกรมบวกรูป coccus
การป้องกัน  รักษาความสะอาดของผิวหนังโดยการอาบน้ำฟอกสบู่และเช็ดให้แห้ง อาบน้ำ
                     ด้วยวิธีนุ่มนวล อย่าใช้ผ้าหรือฟองน้ำถูตัวทารกแรง เพื่อป้องกันการเกิดรอยถลอก 
                     เปลี่ยนเสื้อผ้าที่สะอาดหลังอาบน้ำ  หลีกเลี่ยงการห่มผ้า หากอากาศร้อน เพื่อป้องกัน
                     การเกิดผด หลังอาบน้ำต้องดูแลสะดือให้แห้ง
การรักษา   ฟอกทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่  หากตุ่มหนองมีขนาดเล็กและมีจำนวนไม่กี่ตุ่ม 
                    ใช้ povidone-iodine เช็ดตุ่มให้แตก และทาด้วยขี้ผึ้ง bacitacin แล้วติดตามทารก
                    ใกล้ชิด หากมีตุ่มขนาดใหญ่และแตก และทารกดูดนมได้ดี ให้ยาต้านจุลชีพที่มีผลต่อ 
                    Staphyllococcus aureus เช่น cephalexin หรือ cloxacillin ในขนาด 50 มก./กก./วัน 
                    ทางปาก แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง นาน 7 วัน หากมีตุ่มหนองมากและ/หรือทารกมีอาการซึม 
                    ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาแบบการติดเชื้อในเลือด (sepsis) โดยทำ
                    การเพาะเชื้อจากเลือดและน้ำไขสันหลัง และ ฉีดยาที่ครอบคลุม S. aureus