สายสะดือสด

      
         สายสะดือประกอบด้วยหลอดเลือดแดงสองเส้นและหลอดเลือดดำหนึ่งเส้น หลอดเลือด
ถูกหุ้มด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่คล้ายเมือก (mucoid connective tissue) ซึ่งเรียกว่า Wharton's jelly  
และหุ้มด้วยเนื้อเยื่อบาง ๆ  เมื่อสายสะดือถูกตัดขาด โคนของสายสะดือส่วนที่ติดกับทารก (stump) 
มีการขาดเลือด มีผลให้เหี่ยวแห้งและแข็ง (dry gangrene) การปล่อยให้โคนของสายสะดือถูกกับ
อากาศช่วยเร่งให้แห้งและหลุดเร็วขึ้น เนื้อเยื่อของสายสะดือที่ไม่มีชีวิตเป็นแหล่งเพาะเชื้อที่ดีของ
จุลินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริเวณสะดือเกิดอับแฉะและใส่สารที่ปนเปื้อนเชื้อ เนื่องจากหลอด
เลือดที่สายสะดือยังเปิดอยู่หลายวันหลังคลอด จึงเป็นทางเข้าของจุลินทรีย์สู่กระแสเลือดและสู่
ร่างกาย การรักษาโคนสายสะดือให้แห้งและสะอาดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการ
ติดเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ประจำ (normal flora) ที่สะดือมาจากแบคทีเรียในช่องคลอดและผิวหนัง
ของมารดา และมือของบุคลากรที่ดูแลทารก  การให้ทารกอยู่กับมารดาภายหลังคลอด (rooming-
in) แบคทีเรียส่วนใหญ่ที่เกาะจับผิวหนังของทารกมาจากมารดา ซึ่งเป็นชนิดไม่ก่อให้เกิดโรค (non-
pathogenic) และการติดเชื้อพบน้อยกว่าทารกที่ถูกแยกจากมารดาและดูแลในห้องเด็กอ่อน 
(nursery) โดยบุคลากรทางการแพทย์ 
         ขั้วสะดือหลุดเกิดจากการอักเสบของรอยต่อของสายสะดือกับผิวหนังหน้าท้องโดยมีการ
แทรกซึมของเม็ดเลือดขาวซึ่งมีผลให้เกิดการย่อยสายสะดือจนขั้วสะดือหลุด  ขบวนการที่ทำให้
สายสะดือหลุดจะมีเมือกเล็กน้อยสะสมที่รอยต่อระหว่างผิวหนังของหน้าท้องและสายสะดือทำให้
สายสะดือแฉะเล็กน้อย และมีกลิ่นเหม็น ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่การอักเสบ  สายสะดือมักหลุดใน
เวลา 5-15 วัน สายสะดือหลุดช้า อาจเกิดจากจุลินทรีย์ที่อยู่ประจำ (normal flora) ถูกทำลาย
โดยยาระงับเชื้อ (antiseptics) หรือการติดเชื้อ